ตลาดสปอตคืออะไรและมีความสำคัญอย่างไรในระบบตลาดสากล

ระบบตลาดหรือวิธีการซื้อขายสินค้าประเภท Commodity หรือ สินค้าเกษตรของโลกนี้ได้มีวิวัฒนาการมาหลายหมื่นปี ตั้งแต่มนุษย์ชนเผ่ารู้จักวิธีการแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งทำเพื่อความอยู่รอด ความจำเป็นเท่านั้นและเน้นเฉพาะการแลกเปลี่ยนกับกลุ่มอื่นแต่แบ่งปันในกลุ่มเดียวกัน
เมื่อประมาณ 12,000 - 10,000 BC เกิดการปฏิวัติการเกษตรโดยมีการเพาะปลูกข้าวและพืชอื่นๆขึ้นในวงกว้าง การเกษตรก่อให้เกิดการตั้งถิ่นฐานสร้างหมู่บ้านถาวรขึ้น เริ่มเกิดวัฒนธรรมท้องถิ่น เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าเป็นประจำระหว่างท้องถิ่น ในช่วงนี้หลายๆท้องถิ่นใช้ข้าวเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนโดยตีราคาสินค้าอื่นๆด้วยปริมาณข้าว
โครงสร้างการค้าที่สำคัญในสมัยนั้นมีฐานอยู่บน

  • โครงสร้างเศรษฐกิจระดับหมู่บ้าน
  • เงินที่ใช้ข้าวเป็นตัวแลกเปลี่ยน และ
  • ระบบตลาดที่ยังใช้วิธีการแลกเปลี่ยนกัน

ข้อเสียของการแลกเปลี่ยนสินค้าคือ

  • ทั้งสองฝ่ายต้องมีความต้องการตรงกัน และ
  • เป็นการยากที่จะสามารถประเมินอัตราแลกเปลี่ยนสินค้าได้
  • ไม่มีการทอนเงิน
  • เก็บสะสมไม่ได้

เงิน
เงินเกิดขึ้นจากความจำเป็นที่จะแก้ไขปัญหาการแลกเปลี่ยนสินค้าดังกล่าวข้างต้น โดยมีการเริ่มใช้แรกๆในประเทศจีนเมื่อประมาณ 2,500 BC โดยใช้เปลือกหอยเป็นเงิน จนกระทั่งประมาณปี 900 BC จีนจึงเริ่มนำโลหะมาทำเป็นเงินแต่ก็ยังทำโลหะให้มีลักษณะเหมือนหอยหรือมีดดาบ ในช่วง รณรัฐ (Warring States) ของจีนมีการผลิตเงินออกมาหลายสกุล จนกระทั่งจิ๋นซีฮ่องเต้สั่งยกเลิกทั้งหมดและผลิตเหรียญทองแดงออกมาใช้เป็นครั้งแรกในปี 210BC

กฏหมายการเงิน
กฏหมายทางการเงินฉบับแรกของโลกถูกตราขึ้นใช้เมื่อปี 1754 BC ในบาบีลอนเรียกว่ากฏหมาย ฮัมมูราบีโดยกำหนดค่าของเงินเพื่อผลประโยชน์และหน้าที่ของคน ทำให้เกิดการแบ่งชั้นวรรณะอย่างแพร่หลายขึ้น
ราวๆปี 1,300 AD สุโขทัยมีการค้าขายระหว่างเมืองและระหว่างประเทศอย่างเสรี มีการใช้เงินพดด้วงเพื่อขายผ้าไหมและเครื่องประดับกับชาวต่างชาติ
การใช้วิธีการแลกเปลี่ยนหรือใช้เงินเป็นตัวกลางนี้ถือว่าเป็นการซื้อขายแบบ On The SPOT หรือ การซื้อขายส่งมอบทันทีเกิดขึ้นในโลกโดยในปัจจุบันเรียกย่อลงสั้นๆว่าการซื้อขายแบบ SPOT หรือ ตลาดสปอตนั่นเอง
สรุปว่าในชั้นนี้โครงสร้างตลาดได้เปลี่ยนไปแล้วโดยมีฐานใหม่อยู่บน

  • โครงสร้างเศรษฐกิจระดับเมืองเกิดค้าขายระหว่างเมือง
  • เงินที่ใช้โลหะที่รัฐบาลสร้างขึ้นเป็นตัวแลกเปลี่ยน และ
  • ระบบตลาดสปอตซื้อขายส่งมอบทันที

ปัญหาของตลาดสปอต
ในขณะที่ตลาดสปอตมีความสำคัญและตอบโจทย์ได้หลายอย่าง แต่ก็ยังมีข้อด้อยอยู่บ้างเช่น

  • ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการในอนาคตได้
  • ไม่สามารถขายระหว่างเมืองได้สะดวก
  • ขายได้เฉพาะสินค้าที่ขนไปด้วย
  • อาจขายหมดอย่างเร็วหรือเหลือสินค้ามากมายก็ได้
  • ชาวเมืองอาจต้องการสินค้าที่ไม่ได้ขนไปด้วย

ตลาดข้อตกลง
ตลาดข้อตกลงหรือตลาดตกลงราคาจึงสามารถตอบโจทย์ข้อด้อยของตลาดสปอตได้ดีคือ พ่อค้าสามารถตกลงราคาสินค้าล่วงหน้าโดยการทำสัญญาจะซื้อจะขายสินค้ากับลูกค้าล่วงหน้าโดยสัญญาว่าจะส่งมอบในอนาคต ลักษณะสำคัญของข้อตกลงคือ
เป็นสัญญาที่เกิดขึ้นระหว่าง 2 ฝ่ายเท่านั้น

  • ผู้ซื้อ สัญญาจะจ่ายเงินค่าสินค้าตามจำนวนที่ตกลง
  • ผู้ขายสัญญาว่าจะส่งมอบสินค้าในปริมาณที่ตกลง

การทำสัญญานี้สามารถทำให้พ่อค้ารู้ความต้องการของลูกค้าอย่างแน่นอนและสามารถผลิตสินค้าได้ตามความต้องการ

ความสัมพันธ์และความเสี่ยงระหว่างตลาดสองประเภท
โดยธรรมชาติเมื่อเกิดการเจรจาต่อรองราคาในกลุ่มคนหมู่มากหรือที่เรียกว่าราคาตลาด จะมีความผันผวนขึ้นลงอยู่เสมอ และราคาที่ตกลงล่วงหน้าที่มีสัญญาบังคับราคาไว้แล้วอาจจะต่ำกว่าหรือสูงกว่าราคาสินค้านั้นๆที่มีการซื้อขายกันทั่วไปในตลาดในวันที่ส่งมอบก็ได้ จึงเกิดปัญหาขึ้น

  • หากราคาในสัญญาสูงกว่าราคาตลาดณ.วันส่งมอบ ผู้ซื้ออาจจะผิดสัญญา
  • หากราคาในสัญญาต่ำกว่าราคาตลาดณ.วันส่งมอบ ผู้ขายอาจจะผิดสัญญา

ตลาดตราสารล่วงหน้า
ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในประเทศญี่ปุ่น โชกุนจ่ายค่าแรงให้ซามุไรด้วยข้าว แต่เมื่อพ่อค้าข้าวและพ่อค้าตั๋วเงินหรือร้านแลกเปลี่ยนเงินร่วมมือกันเก็งกำไรข้าว กักตุนข้าวทำให้เกิดความเดือดร้อนไปทั่ว เกิดจราจลผู้คนล้มตายและอดตายมากมาย โชกุนจึงยื่นมือเข้ามาจัดการพ่อค้าโดยการตั้งตลาดกลางล่วงหน้าข้าวขึ้นเป็นตลาดแรกของโลกในปี 1697AD ชื่อ ตลาดโดจิมะ Dojima Rice Exchange ที่เมืองโอซาก้าและยังส่งผลให้เกิดธนาคารแห่งแรกของญี่ปุ่นด้วย
หลังจากนั้นไม่นาน เกิดตลาดล่วงหน้าขึ้นอีกใน ลอนดอนในปี 1877 AD London Metal Exchange โดยมีการขายสัญญา 3 months Forward Contracts และในชิคาโกปี 1848 AD โดยขายสัญญาข้าวโพด
ปัญหาของตลาดล่วงหน้า
ในปัจจุบันนี้ตลาดล่วงหน้าเหล่านี้ประสบความสำเร็จสูงมากจนพบว่าสัญญาล่วงหน้าส่วนใหญ่ไม่มีการส่งมอบสินค้าแต่เป็นเพียงการเก็งกำไรของกลุ่มทางการเงิน เช่นสัญญาซื้อขายยางธรรมชาติในจีนมีการซื้อขายกันถึง 20,000 ครั้งต่อการส่งมอบสินค้าจริง 1 ครั้งทำให้มีการบิดเบือนราคาออกห่างจากการซื้อขายส่งมอบจริงหรือตลาดสปอตออกไปจนกระทั่งหลายๆครั้ง ราคาสัญญาในตลาดล่วงหน้าในวันส่งมอบไม่ตรงกับราคาสินค้าจริง

พัฒนาตลาดสปอตใหม่
หลายสิบปีที่ผ่านมาตลาดสปอตของประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรไม่ได้รับการพัฒนาเลย เกษตรกรและเจ้าหน้าที่ภาครัฐต่างหันไปรับราคาจากตลาดล่วงหน้าในต่างประเทศทั้งนั้น โดยโรงงานผู้ส่งออกจะนำราคานั้นมาลบกำไรและต้นทุนและมาตั้งราคารับซื้อวัตถุดิบจากยี่ปั๊วและก็ดำเนินการแบบเดียวกันไล่เรียงกันไปจนถึงเกษตรกร เหลือราคาเท่าไหร่ก็ต้องรับไป จะขาดทุนหรือไม่ก็ไม่เกี่ยวกับราคาตลาดล่วงหน้า จะเห็นได้ชัดว่าราคาล่วงหน้าไม่ได้สะท้อนต้นทุนเกษตรกรเลย
เมื่อเทคโนโลยีใหม่สร้างโอกาสให้คนทั่วไปสามารถซื้อขายสินค้าเกษตรได้แบบออนไลน์ในรูปแบบตลาดสปอตโดยเกิดราคาอ้างอิงขึ้นจริง ซื้อขายข้ามประเทศได้ ชำระเงินได้ออนไลน์แบบปลอดภัยและมั่นใจ จึงเป็นครั้งแรกที่เกษตรกรและพ่อค้ารายย่อยสามารถร่วมกำหนดราคาสินค้าเกษตรของโลกได้โดยการร่วมมือกันใช้ระบบตลาดสปอตในการซื้อขายสินค้าเกษตรประจำวัน